วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

รอบรู้เรื่องระบำ รำ ฟ้อน

ประวัติความเป็นมาของ
ระบำพรหมมาสตร์
ชื่อ ระบำพรหมมาสตร์
ประเภทของการแสดง ระบำ
ประวัติที่มา

ตอนที่ 1

ระบำพรหมมาสตร์ เป็นระบำของเหล่าเทวดา- นางฟ้า อีกชุดหนึ่งสำหรับการแสดงประกอบการแสดงโขน ชุดศึกพรหมมาสตร์ เนื้อเรื่องกล่าวถึงอินทรชิตโอรสของทศกัณฐ์ กำลังทำสงครามติดพันกับพระลักษมณ์ จึงใช้กลยุทธลวงพระลักษมณ์และกองทัพวานร โดยอินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร เจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และให้การุณราชแปลงเป็นช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นพาหนะทรงของตน อีกทั้งให้บรรดาพลยักษ์นักรบในกองทัพแปลงกายเป็นเทพบุตร และนางฟ้า พากันเหาะฟ้อนรำ นำขบวนไปหน้าช้าง เพื่อลวงพระลักษมณ์ และกองทัพวานร ว่าขบวนเสด็จของพระอินทร์กำลังเสด็จผ่านมาในอากาศ อินทรชิตหวังสบโอกาสเหมาะจะลอบใช้ศรพรหมมาสตร์แผลงสังหารพระลักษมณ์ และพลวานร ด้วยนี้ ระบำชุดนี้จึงเรียกว่าในวงการนาฏศิลป์ไทยอีกชื่อหนึ่งว่า "ระบำหน้าช้าง" น่าจะเป็นเพราะเรียกตามลักษณะระบำ ที่รำอยู่หน้างช้างเอราวัณของพระอินทร์แปลง กรมศิลปากรได้จัดโขนออกแสดงเป็นประจำทุกปี ซึ่งแต่ละชุดจะมีชั้นเชิงและลีลาท่าทีของศิลปะที่แตกต่างกันไปตามเจตน์จำนงของการจัด โดยมุ่งหมายให้เป็นการฝึกศิลปิน และนักเรียนของกรมศิลปากร เกิดความรู้ความชำนาญในการแสดงแต่ละชุดแต่ละตอน ซึ่งบางชุดก็เป็นการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ บางตอนก็สืบทอดกันมาโบราณ อีกทั้งยังต้องการเสนอให้ผู้ชมเห็นความหลากหลายของการแสดงโขนด้วย ในปี พ.ศ. 2496 กรมศิลปากรได้จัดการแสดงโขนชุดนี้ที่โรงโขนหลวง มิกสักวัน สนามเสือป่า ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 กรมศิลปากรจึงได้จัดการแสดงโขนชุดศึกพรหมมาสตร์ขึ้นอีกวาระหนึ่ง แต่ก็ยังคงรักษารูปแบบการแสดงศิลปะของเดิมไว้
โปรดติดตามตอนต่อไป